สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยคาดการณ์ตลาดยานยนต์เติบโตอย่างต่อเนื่องตามเศรษฐกิจและพร้อมให้การสนับสนุนการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างเต็มที่

by TeawFinKinShop

สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (The Thai Automotive Industry Association : TAIA) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชน (TAIA Meets the Press) ในหัวข้อ “ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” โดยได้มองแนวโน้มตลาดยานยนต์ปี พ.ศ. 2567 เติบโตต่อเนื่องตามเศรษฐกิจไทยจากนโยบายการสนับสนุนของภาครัฐ

นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เผยว่า “ในปี พ.ศ. 2567 คาดการณ์การผลิตรถยนต์ของไทยโดยรวมที่ 1.9 ล้านคัน เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 3.17% โดยแบ่งเป็นผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 7.5 แสนคัน และผลิตเพื่อส่งออก 1.15 ล้านคัน และสำหรับตัวเลขรถจักรยานยนต์ คาดการณ์ยอดผลิตที่ 2.12 ล้านคัน เติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 0.03% 

ปัจจัยที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2567 แบ่งเป็น 3 ด้าน

  1. ภาวะทางเศรษฐกิจ 
  • ภาระหนี้สินภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและหนี้เสีย (NPLs) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องส่งผลกระทบโดยตรงต่อ​ต่อ​อำนาจ​ซื้อ​ของ​ประชาชนที่​ลดลงและยอดการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ
  • สถานการณ์ความเข้มงวดของการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ที่เข้มงวดมากขึ้น เนื่องจากมูลค่า  และแนวโน้มหนี้เสียที่เพิ่มสูงขึ้น
  • รถยนต์มือสองราคาตก เนื่องจากปริมาณซัพพลายล้นตลาด
  • ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและยาวนาน เช่น ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน

2. นโยบายและกฎระเบียบด้านยานยนต์

  • การบังคับใช้มาตรฐานมลพิษระดับ ยูโร 5 ทั้งรถยนต์และน้ำมัน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป ส่งผลให้ราคารถยนต์และน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
  • มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV 3.0, EV 3.5 และ มาตรการส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ รถบัสไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้า (E-Bus & E-Truck) โดยให้บริษัท สามารถนำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้ามาใช้งานมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 
  • การมุ่งสู่สังคมความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Society) ภายในปี พ.ศ. 2593 ตามที่รัฐบาลได้แสดงเจตนารมย์ไว้เมื่อการประชุมสมัชชาประเทศว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 26 ที่สกอตแลนด์เมื่อปี 2564 โดยมีการผลักดัน พรบ.อากาศสะอาด และพรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3. การค้าระหว่างประเทศ

  • ปัจจุบันประเทศไทยมีข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศแล้วจำนวนทั้งสิ้น 15 ฉบับ 19 ประเทศคู่ค้า และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 5 ฉบับ โดยมีฉบับสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เช่น ข้อตกลงการค้าไทย-ยุโรป, ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA),   ไทย-เกาหลีใต้
  • มาตรการกีดกันทางการค้า (Non Trade Barrier) เช่น มาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับรถยนต์ใหม่ (New Vehicle Efficiency Standard: NVES) คาดว่าจะบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยเป็นการกำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากรถยนต์ที่นำเข้าไปยังประเทศออสเตรเลีย ทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะ

สำหรับอนาคตยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ในไทย มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยอดจดทะเบียนรวม 1.0 – 1.2 แสนคัน และส่วนใหญ่เป็นรถยนต์นั่ง จากการตระหนักถึงความสำคัญของการลดภาวะโลกร้อนโดยการใช้รถไฟฟ้าจากประชาชนชาวไทย รวมถึงมาตรการการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าจากภาครัฐ  นอกจากนี้นายสุวัชร์ยังกล่าวเสริมว่า “ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) มาอย่างยาวนาน สร้าง Supply Chain และ Value Chain ที่เข้มแข็ง ครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมทั้งก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก ดังนั้น การรักษาฐานการผลิตรถยนต์สันดาปไว้ จึงเป็นสิ่งสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อีกทั้งสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยพร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการสร้างสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อลดการปล่อยมลพิษและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้ตามโนบาย “เป้าหมายในการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2050” ของรัฐบาลผ่านนโยบายต่างๆ เช่น 30@30 เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้   และการผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ ปี 2569เพื่อส่งเสริมรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น”

You may also like

Green House Media and Event Co.,Ltd.

252 Soi Lat Phrao 93, Lat Phrao Road,
Khlong Chaokhun Sing, Wang Thonglang,
Bangkok 10310

Contact us: news@joinalife.com

© 2024 TeawFinKinShop. All rights reserved. Design & Developed By : R Web Design