สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยคาดการณ์ตลาดยานยนต์ยังทรง พร้อมวอนรัฐออกมาตรการกระตุ้นต่อเนื่อง

by TeawFinKinShop

สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (The Thai Automotive Industry Association : TAIA) ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย (The Thai Automotive Journalists Association : TAJA) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสื่อมวลชน (TAIA Meets the Press) ในหัวข้อ “ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย” โดยมองแนวโน้มตลาดยานยนต์ปี   พ.ศ. 2568 มีแนวโน้มการเติบโตใกล้เคียงกับปีที่แล้ว โดยอาจจะดีขึ้นหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

นายสุวัชร์ ศุภกาญจน์เดชากุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เผยว่า “ในปี พ.ศ. 2568 คาดการณ์การผลิตรถยนต์ของไทยโดยรวมที่ 1.5 ล้านคัน เติบโตขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 2.1% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 5 แสนคัน และผลิตเพื่อส่งออก 1 ล้านคัน และสำหรับตัวเลขรถจักรยานยนต์ คาดการณ์ยอดผลิตที่ 2.1 ล้านคัน เติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 11.2%

ปัจจัยที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยปี 2568 แบ่งเป็น 2 ด้าน

1.  ปัจจัยสนับสนุน

  • การขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุนด้านการเพิ่มขึ้นของการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะในโครงการสำคัญต่างๆ เช่น การก่อสร้างสาธารณูปโภค การก่อสร้างรถไฟสายต่างๆ โดยจะทำให้มีเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า  3 ล้านล้านบาท
  • การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ที่ใกล้เคียงระดับก่อนโควิด-19 โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ระดับปกติมากขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ในขณะที่ภาครัฐจัดกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

2.  ปัจจัยเสี่ยง

  • สถานการณ์หนี้ครัวเรือนและหนี้เสียยังอยู่ในระดับน่ากังวล โดยหนี้ครัวเรือน ถึงแม้จะปรับตัวลดลงเหลือระดับ 89% ต่อ GDP แต่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อทั้งหมดมากถึง 22% ส่งผลให้อำนาจการซื้อของประชาชนลดลง
  • อัตราส่วนหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือนของสินเชื่อรถยนต์ยังอยู่ในระดับสูงมาก ส่งผลให้สถาบันการเงินยังคงนโยบายเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงในการกลายเป็นเป็นหนี้เสีย
  • นโยบายกีดกันการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ที่เน้นการลดการเสียเปรียบด้านการค้ากับประเทศคู่ค้า โดยการเพิ่มภาษีสินค้าที่นำเข้าไปในสหรัฐฯ ส่งผลให้สินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนได้รับผลกระทบ เช่น รถยนต์นั่ง ยางรถยนต์ อะไหล่และอุปกรณ์ยานยนต์ต่างๆ รวมถึงความเสี่ยงทางอ้อมที่อาจทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งระบายสินค้าจากประเทศที่ถูกกีดกันการค้าสูงกว่ามากขึ้น นำไปสู่การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงจากภาวะอุปทานเกินขนาด

นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีนี้ ได้แก่

  • โครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้ารถยนต์ใหม่ ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป โดยมีการกำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ต่ำกว่าปัจจุบัน เพื่อให้ได้อัตราภาษีในอัตราต่ำลง รวมถึงสนับสนุนยานยนต์สมัยใหม่ เช่น PHEV กำหนดให้มีการติดตั้งระบบช่วยเหลือการขับขี่ ADAS และกำหนดเงื่อนไขการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ
  • การบังคับใช้มาตรฐานมลพิษจากรถยนต์ ระดับยูโร 6  โดยรถยนต์เครื่องยนต์เบนซิน  เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ส่วนรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของภาครัฐ
  • ข้อตกลง FTA ในปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 17 ฉบับ 24 ประเทศคู่ค้า และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 4 ฉบับ โดยมีฉบับสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต เช่น การเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป
  • มาตรฐานประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับรถยนต์ใหม่ (New Vehicle Efficiency Standard : NVES) ของประเทศออสเตรเลีย โดยจะมีการกำหนดเกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รถยนต์ที่นำเข้าไปยังประเทศออสเตรเลีย ทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะ ที่จะเริ่มบังคับใช้พร้อมบทลงโทษตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป

จากสถานการณ์ยอดขายรถยนต์ที่ซบเซาในปัจจุบัน สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้เสนอมาตรการต่อภาครัฐ ดังนี้

มาตรการกระตุ้นยอดขายในประเทศระยะสั้น

  • มาตรการด้านภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การนำค่าใช้จ่ายในการซื้อหรือค่าบำรุงรักษารถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • มาตรการด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล การนำค่าใช้จ่ายในการซื้อ หรือเช่ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ผลิตในประเทศมาลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้ รวมถึงขยายเพดานค่าใช้จ่ายที่หักได้ให้เพิ่มมากขึ้น
  • มาตรการด้านสินเชื่อ การผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อสำหรับกู้ซื้อรถ โดยอนุญาตให้สามารถกู้ร่วมและพิจารณารายได้รวมของทั้งครอบครัวในการประเมินการปล่อยสินเชื่อได้ รวมถึงมาตรการค้ำประกันสินเชื่อในการซื้อรถยนต์
  • มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายงบประมาณประจำปีของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

มาตรการกระตุ้นยอดขายและส่งออกในระยะกลาง – ยาว

  • รักษาการเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนสำหรับรถยนต์ ICE ที่สำคัญของโลก และส่งเสริมการผลิต Future ICE เพื่อรักษา Economy of Scale ให้สามารถแข่งขันได้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ด้วยการเร่งเจรจา FTA กับกลุ่มประเทศที่ยังมีความต้องการรถยนต์สันดาปภายในอยู่ รวมถึงหามาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนในกลุ่ม Future ICE เช่น Product Champion, HEV หรือ PHEV เป็นต้น
  • ยกระดับอุตสาหกรรมชิ้นส่วน เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยานยนต์สมัยใหม่ผ่านกลไกการ Matching บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกับต่างชาติ เพื่อเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ และต่อยอดสู่ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า (Power Electric Parts) รวมทั้งฝึกอบรมแรงงาน เพื่อเข้าสู่ยานยนต์สมัยใหม่เพื่อเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ต่างๆ
  • ขยายการส่งออกยานยนต์ประเภท ZEV (Zero Emission Vehicle) ไปยังประเทศที่มีศักยภาพ พร้อมเร่งรัดการเจรจาข้อตกลง FTA โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศที่มีนโยบายส่งเสริมการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อมีสิ่งแวดล้อม

โดยคาดหวังว่ามาตรการเหล่านี้ จะสามารถกระตุ้นตลาดรถยนต์และรถจักรยานยนต์ปีนี้ และปีต่อๆไป ให้ฟื้นตัวไปสู่ระดับปกติ และดียิ่งขึ้นต่อไป

You may also like

Green House Media and Event Co.,Ltd.

252 Soi Lat Phrao 93, Lat Phrao Road,
Khlong Chaokhun Sing, Wang Thonglang,
Bangkok 10310

Contact us: news@joinalife.com

© 2024 TeawFinKinShop. All rights reserved. Design & Developed By : R Web Design