สถานการณ์ไฟป่ายังคงน่าเป็นห่วงแม้จะใกล้กลางปีแล้ว แต่ข่าวดีที่ยังพอมีให้ชื่นใจ คือ พื้นที่ป่าที่ถูกเผาไหม้ในปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วทั้งที่จุดความร้อนหรือไฟป่าที่เกิดขึ้นในปีนี้มีจำนวนใกล้เคียงกันกับปีที่แล้ว นับได้ว่าเป็นความสำเร็จขั้นแรกของทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกัน
นายธวัชชัย ธนะโรจน์รุ่งเรือง ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ และหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟเชียงใหม่ ซึ่งดูแลพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติประมาณ 10 ล้านไร่ในจังหวัดเชียงใหม่และลำพูนเล่าให้ฟังว่า “การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัด กรมป่าไม้
ลงไปจนกระทั่งระดับหมู่บ้าน มีประสิทธิภาพมากขึ้น ระบบการสื่อสารข้อมูลดีขึ้น มีการแจ้งเตือนเร็วมาก พวกเราได้รับข้อมูลเร็วขึ้นก็สามารถเข้าพื้นที่ดำเนินการดับไฟได้เร็ว ป้องกันไม่ให้ลุกลามในวงกว้างได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย”
ผลจากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่รับผิดชอบ ตลอดจนกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีส่วนช่วยลดพื้นที่ป่าในภาคเหนือที่ได้รับความเสียหายให้น้อยลง โดยจากสถิติของส่วนควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ ระบุว่า ในช่วงเดือนตุลาคม 2565- เมษายน 2566 มีการดับไฟป่าในภาคเหนือ 5,131 ครั้งและมีพื้นที่ป่าได้รับความเสียหาย 138,141.08 ไร่ ส่วนในช่วงเดียวกันของปีนี้ มีการดับไฟป่า 3,149 ครั้ง และมีพื้นที่ป่าที่เสียหาย 108,228.77 ไร่[1]
นอกจากนี้ ความร่วมมือและความตั้งใจในระดับเกินร้อยของอาสาสมัครระดับหมู่บ้านยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้การดูแลผืนป่าในภาคเหนือมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาสาสมัครเหล่านี้เป็นด่านหน้า เป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่ และเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากไฟป่ามากที่สุด เพราะป่าเป็นที่อยู่ เป็นแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ของพวกเขา ไฟป่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมาก อาสาสมัครหมู่บ้านเหล่านี้จึงมีความสำคัญและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
แม้ว่าระบบข้อมูลข่าวสารจะรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น และคนด่านหน้ามีความมุ่งมั่นในการปกปักรักษาผืนป่า แต่อุปสรรคใหญ่ยังคงเป็นเรื่องความเพียงพอของอุปกรณ์ และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ทั้งค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ ค่าน้ำมันที่ใช้เติมเครื่องเป่าลมเพื่อดับไฟและเป่าใบไม้แห้งเพื่อทำแนวกันไฟ และอื่นๆ จิปาถะ ถึงแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่ที่ต้องดูแลมีกว้างขวางมาก และจำนวนอาสาสมัครที่ช่วยกันดูแลก็มีมากเช่นกัน
“หน่วยงานภาครัฐเองนอกจากจะจัดสรรงบประมาณแล้ว ยังมีการปรับปรุงระเบียบต่างๆ ผ่อนปรนมากขึ้น เพื่อให้การทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและราบรื่นที่สุด ที่สำคัญคือ สามารถเปิดโอกาสให้ภาคสังคมและเอกชน เข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วยในการดูแลรักษาผืนป่า” นายธวัชชัยกล่าว
[1] https://portal.dnp.go.th/Content/firednp?contentId=15705
ในระยะหลายปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งในด้านการสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ หรือการจัดกิจกรรมทำแนวกันไฟ ปลูกป่า เช่น นิสสัน ประเทศไทย ที่ได้สนับสนุนรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อให้แก่ทีมเหยี่ยวไฟเชียงใหม่ เครื่องเป่าลม อุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งชักชวนพนักงานมาร่วมกันทำฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนป่า ลดความเสี่ยงจากการเกิดไฟป่าและช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ภารกิจของทีมเหยี่ยวไฟจะหนักหน่วงที่สุดในช่วงฤดูแล้งที่มักเกิดไฟป่า แต่หลังจากเข้าหน้าฝน ภารกิจของทีมจะเปลี่ยนไปเป็นการฟื้นฟูพื้นที่ ด้วยการปลูกไม้ในพื้นที่ที่ไฟป่าทำลายไป เพื่อช่วยให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองได้เร็วขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีภารกิจสำคัญอีกด้านหนึ่งคือการเป็นพี่เลี้ยงให้แก่อาสาสมัครและหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาร่วมปลูกป่า ฟื้นฟูพื้นที่ป่า ทำแนวกันไฟ การให้ความรู้แก่คนทั่วไปและอาสาสมัครต่างๆ
“ไฟป่าไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในประเทศไทยหรือในแถบนี้ แต่เป็นปัญหาของโลก ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกประเทศต้องตระหนักถึงความรุนแรง และร่วมมือกันอย่างจริงจังจึงจะช่วยให้ปัญหานี้เบาลงได้ สำหรับในประเทศไทย การปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการพาณิชย์ ถือได้ว่าเพิ่มความเสี่ยงให้แก่สถานการณ์ไฟป่า เพราะพืชบางชนิดติดไฟง่าย เช่น ข้าวโพด หรือการเผาตอซังข้าว ถ้าในแต่ละแปลงเกษตร มีพืชหลายชนิด มีไม้ยืนต้นที่ไม่ค่อยติดไฟ จะช่วยลดการเกิดไฟป่าลุกลามได้”
ท้ายที่สุด ผอ.ธวัชชัย ย้ำว่า ความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายคือหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการควบคุมไฟป่า และการมองปัญหาโดยองค์รวมจะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาเรื่องไฟป่าได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ติดตามชมภารกิจของหน่วยเหยี่ยวไฟได้ที่วิดีโอคลิปตาม Link นี้