ไทยฮอนด้า ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์อเนกประสงค์ฮอนด้าในประเทศไทย ลงนามบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดตั้งโครงการ “ขับขี่ปลอดภัยแก่นักศึกษามหาลัยเชียงใหม่” เพื่อปลูกฝังให้นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความรู้และทักษะการขับขี่ที่ถูกต้อง สนับสนุนนักศึกษาและบุคลากรทุกท่านให้มีใบอนุญาตขับขี่ที่ถูกต้องตามกฎจราจร เพื่อรณรงค์สร้างความปลอดภัยและลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนให้เป็นศูนย์
ดร.อารักษ์ พรประภา ประธาน บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า “นับเป็นเวลากว่า 35 ปี ที่ไทยฮอนด้าได้ดำเนินกิจกรรมขับขี่ปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย โดยได้ดำเนินการร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยการลงนามความร่วมมือในโครงการฯ นี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการลดการเกิดอุบัติเหตุในการขับขี่ของนักศึกษาและของบุคลากรในมหาวิทยาลัยฯ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นต้นแบบสู่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในประเทศไทยในการร่วมสร้างสังคมที่ปลอดอุบัติเหตุต่อไปในอนาคต”
สำหรับโครงการขับขี่ปลอดภัยแก่นักศึกษามหาลัยเชียงใหม่ มีสาระสำคัญทั้งหมด 3 ประการ ดังนี้
- สร้างความร่วมมือในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เผยแพร่ความรู้และทักษะความชำนาญในการขับขี่อย่างถูกต้องปลอดภัยให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- สร้างงานวิจัยและพัฒนาด้านความปลอดภัยทางถนน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีในการป้องกันและรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนน โดยการสร้างจิตสำนึกในด้านความปลอดภัยและสร้างวินัยจราจรให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ร่วมมือและสนับสนุนให้สำหรับนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีทักษะและความรู้ในการขอรับใบอนุญาตขับขี่อย่างมีประสิทธิภาพ
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือโครงการฯ นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนมหาวิทยาลัยด้วยการส่งเสริมทักษะอันเป็นประโยชน์ต่อการสร้างวินัยจราจรแก่นักศึกษาและบุคลากรทุกท่านได้เป็นอย่างดี และขยายผลไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการขับขี่อย่างปลอดภัยในบริเวณมหาวิทยาลัยและพื้นที่ชุมชนรอบๆ ต่อไป” ดร. อารักษ์ พรประภา กล่าวทิ้งท้าย
ติดตามข่าวสาร Honda Safety Thailand ได้ที่
แฟนเพจเฟซบุ๊ก : facebook.com/HondaSafetyThailand
เว็บไซต์ : hondasafety.thaihonda.co.th
#HondaSafetyThailand #HaveAGoodRide #ฮอนด้าเมืองไทยขับขี่ปลอดภัย
#ไทยฮอนด้าเพื่อสังคมไทย #SafetyforEveryone