หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ (JCC) ได้ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยเป็นระยะเวลายาวนานซึ่งในปีนี้ก็เป็นปีที่ 70 โดยงานในครั้งนี้ได้ร่วมกับทางสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) จัดการแข่งขันการนำเสนอผลงานเกี่ยวกับนวัตกรรมในการทำธุรกิจ ซึ่งได้มีการจัดงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 9 ปี และมีจำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้นทั้งหมด 864 คน โดยในปีนี้ได้มีการจัดการแข่งขันในหัวข้อ “Innovation in Upcycling the Eco-Friendly Products & Services” โดยมีการแข่งขันเพื่อคัดเลือกนักศึกษาทั้งหมด 6 ทีม จาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งนักศึกษาทั้ง 6 ทีม ผ่านการคัดเลือกจากนักศึกษาทั้งหมดที่ได้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร “The Comprehensive Course in Japanese Business Innovation” ที่หอการค้าญี่ปุ่นฯ ได้จัดขึ้น โดยหลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับนวัตกรรมการทำธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่น หรือลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมองค์กรในบริษัทญี่ปุ่นสำหรับคนรุ่นใหม่ และยังส่งเสริมให้นักศึกษาที่ได้เรียนรู้ในหลักสูตรพิเศษนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการแข่งขันนำเสนอผลงานเพื่อสร้างนวัตกรรมขึ้นใหม่ ที่สามารถใช้งานได้จริงรวมถึงการต่อยอดหรือขยายผลของผลงานดังกล่าวเพื่อก่อให้เกิดโอกาสในเชิงธุรกิจในอนาคต
ภายในงาน มีการกล่าวเปิดงานโดยนายฮิโรยาซุ ซาโต้ รองประธานหอการค้าญี่ปุ่นฯ-กรุงเทพฯ และประธานส่วนการศึกษา คณะกรรมการฝ่ายความช่วยเหลือสังคม หอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ และยังได้รับเกียรติจากดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวแสดงความยินดีในพิธีปิดโครงการและดร.วันเพ็ญ บุรีสูงเนิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมเป็นกรรมการตัดสินในครั้งนี้อีกด้วย โดยการแข่งขันเสนอผลงานครั้งนี้ คณะกรรมการจะตัดสินโดยพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ อาทิเช่น ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงาน ข้อมูลและเนื้อหา แผนธุรกิจ วิธีการนำเสนอผลงาน เป็นต้น โดยทีมที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลไปทัศนศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น พร้อมทุนการศึกษา 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษา 30,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้รับรางวัลทุนการศึกษา 10,000 บาท
โดยปีนี้ทีมที่ชนะเลิศได้แก่ ทีม ECOFORCE จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นำเสนอผลงานชื่อ BeeEco ซึ่งเป็นรังเลี้ยงผึ้ง ที่ผลิตมาจากวัสดุรีไซเคิลมากกว่า 95% โดยผลิตมาจากซังข้าวโพดและขยะถุงพลาสติกชนิด HDPE ได้มีการออกแบบตัวรังให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผึ้งโพรง ซึ่งเป็นผึ้งที่ยอดนิยมแก่การทำการเกษตร รองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ทีม OHO ก๋วยเตี๋ยวไก่ (OHO KTK) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานที่มีชื่อว่า OHO Fireball ซึ่งเป็นลูกบอลดับเพลิงที่ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยในการดับไฟที่ลุกลามไปแล้ว โดยลูกบอล 1 ลูก สามารถครอบคลุมพื้นที่การดับไฟได้สูงถึง 4 ตารางเมตร และยังถูกออกแบบเพื่อให้สามารถนำไป Recycle และ Reuse ได้ และรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม Dumpling Gang จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอผลงานชื่อ Been Back ซึ่งเป็นผลงานที่ทำมาจากแผ่นไวนิลโฆษณาหรือหาเสียงที่เป็นขยะหลังจากถูกใช้งานในระยะเวลาสั้น ๆ ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณสมบัติที่มีความยืดหยุ่น ทนทานและมีสีสันที่สวยงามอีกด้วย
ภายหลังการประกวด ได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับนักศึกษาที่ได้เข้ารับการอบรมในหลักสูตร “The Comprehensive Course in Japanese Business Innovation” โดยมีตัวแทนนักศึกษาจากทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ขึ้นรับใบประกาศนียบัตรจาก นายฮิโรยาซุ ซาโต้ และผู้เข้าร่วมงานทุกท่านได้ถ่ายรูปร่วมกันเป็นที่ระลึก